ประเทศไทย 4.0 และโทรคมนาคม

ประเทศไทย 4.0 และโทรคมนาคม

ประเด็นที่กำลังเป็นจับตามองในขณะนี้ คงจะหนีไม่พ้น “ประเทศไทย 4.0” หรือ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ “Value–Based Economy” หรือ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายๆ ท่านคงจะเคยได้ยินกันมาบ้างไม่มากก็น้อย หากจะอธิบายอย่างคร่าวๆ ก็คงจะอธิบายได้ว่าโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ได้ปรับเปลี่ยนมากันด้วยทั้งสิ้น 3 ยุค โดยในยุคแรกเรียกว่า “ประเทศไทย 1.0” ซึ่งเป็นโครงสร้างเศรษฐกิจที่เน้นภาคการเกษตร ในยุคต่อมาคือ “ประเทศไทย 2.0” เน้นอุตสาหกรรมเบา เช่น การผลิตและขายรองเท้า เครื่องหนัง กระเป๋า เสื้อผ้า เครื่องดื่ม เครื่องประดับ เป็นต้น ต่อมาคือ “ประเทศไทย 3.0” หรือในยุคปัจจุบันคือยุคโครงสร้างเศรษฐกิจที่เน้นอุตสาหกรรมหนักและการส่งออก เช่น ส่งออกเหล็กกล้า รถยนต์ กลั่นน้ำมัน แยกก๊าซธรรมชาติ ปูนซีเมนต์ เป็นต้น สำหรับ “ประเทศไทย 4.0” จะปรับเปลี่ยนจาก “ผลิตสินค้า” ไปสู่ “การให้บริการ” และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดย “อุตสาหกรรม” ไปสู่การขับเคลื่อนโดย “เทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์” ทั้งนี้เนื่องจากการพัฒนาที่ผ่านมาทั้ง 3 ยุค ยังไม่สามารถทำให้ประเทศหลุดพ้นจากประเทศรายได้ปานกลางได้ ในบทความนี้จะเล่าถึงนโยบายที่สำคัญของ “ประเทศไทย 4.0” กับผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เพื่อการเตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ในบทความนี้เป็นการเรียบเรียงข้อมูลจากสำนักงาน กสทช. สำนักข่าวไทยรัฐ และแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถืออื่นๆ
“ประเทศไทย 4.0” เป็นการเปลี่ยนแปลงความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) จาก “ความหลากหลายเชิงชีวภาพ” และ “ความหลากหลายเชิงวัฒนธรรม” ให้เป็น “ความได้เปรียบในเชิงแข่งขัน (Competitive Advantage)” โดยมีอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ (Food, Agriculture & Bio-Tech) 2.กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ (Health, Wellness & Bio-Med) 3.กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม (Smart Devices, Robotics & Mechatronics) 4.กลุ่มดิจิตอล เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่อและบังคับอุปกรณ์ต่างๆ ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว (Digital, IoT, Artificial Intelligence & Embedded Technology) และ 5.กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง (Creative, Culture & High Value Services) ซึ่งจะเห็นได้ว่า อุตสาหกรรมเป้าหมายล้วนมีความเกี่ยวข้องในทางตรงและทางอ้อมกับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมด้วยกันทั้งสิ้น จึงอาจจะเรียกได้ว่าเป็น “ยุคทองของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม” ก็ว่าได้
ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมจำเป็นต้องมีการปรับปรุงระบบ และเพิ่มประสิทธิภาพของโครงข่ายเพื่อรองรับการใช้งานที่เพิ่มขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะการเข้ามาของเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่อและบังคับอุปกรณ์ต่างๆ หรือ Internet of Things การเพิ่มขึ้นของการใช้งานทางข้อมูลซึ่งเป็นผลจากการพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลง รวมไปถึงการพัฒนารูปแบบธุรกิจใหม่ ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และการใช้งานรูปแบบใหม่ๆ ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการโทรคมนาคม โดยเฉพาะผู้ประกอบการโครงข่ายโทรศัพท์มือถือ (Mobile Network Operators : MNOs) จำเป็นต้องมีคือการบริหารทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด เช่น คลื่นความถี่ ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทั้งนี้นอกจากผู้ประกอบการที่มีการปรับตัวแล้ว ในแง่หน่วยงานกำกับดูแลเองก็ต้องมีแผนเพื่อเตรียมพร้อมรองรับการเปลี่ยนที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาการจัดสรรคลื่นความถี่ในย่านใหม่ๆ สำหรับโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ การกำกับดูแลการแข่งขันภายในอุตสาหกรรม เพื่อรักษาระดับการแข่งขันที่ดีที่สามารถสร้างประโยชน์ได้แก่ทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค ในด้านโครงข่ายโทรศัพท์ประจำที่เองก็มีจำเป็นต้องมีการพัฒนาโครงข่ายเพื่อรองรับการใช้งานที่เหมาะสม โดยเฉพาะอินเตอร์เน็ตประจำที่ความเร็วสูง ที่ในปัจจุบันรัฐบาลได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก จากแผนของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกำหนดให้ในภายในปี พ.ศ. 2563 (แผน ICT 2020) ได้มีการกำหนดการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง (ความเร็วอยู่ที่ระดับ 2 Mbps) ในระดับครัวเรือนที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ซึ่งนับเป็นการวางรากฐานที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต
กล่าวโดยสรุป อุตสาหกรรมโทรคมนาคมในอนาคตนั้นนับเป็นอุตสาหกรรมที่มีสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นรากฐานที่สำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอื่น เปรียบเทียบเสมือนถนน ที่มีอุตสาหกรรมขับเคลื่อนสัญจรผ่านถนน ฉะนั้นหากถนนมีคุณภาพและอยู่ในมาตรฐานที่ดี การเดินทางสัญจรของอุตสาหกรรมประเภทอื่นๆ ก็เป็นไปด้วยความราบรื่น และผลักดันประเทศไทยไปสู่การเป็น “ประเทศที่มีรายได้สูง” ได้ในอนาคตอันใกล้
Tags: 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การศึกษาเด็กไทยในยุค Thailand 4.0

เด็กไทย4.0คืออะไร

เยาวชนไทยควรปรับตัวอย่างไร กับ Thailand 4.0